สาขาวิจัย >> ความหลากหลายของพืช | Plant Diversity

ความสำคัญ

การดำรงชีวิตของมนุษย์ต่างก็มีความผูกพันใกล้ชิดกับพืชมาตั้งแต่เกิด มนุษย์พยายามคิดค้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อนำพืชมาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งก่อนที่จะนำพืชที่มีอยู่จำนวนจำกัดมาใช้ในชีวิตประจำวันได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีการศึกษาและเรียนรู้พืชแต่ละชนิดให้ชัดเจน ซึ่งในโลกนี้มีรายงานการค้นพบพืชรวมกันมากกว่า 250,000 ชนิด ดังนั้นการศึกษาด้านความหลากหลายของพืช จึงเป็นการศึกษาศาสตร์เบื้องต้นเกี่ยวกับพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

เหมาะกับใคร?

กลุ่มเนื้อหาวิชาในสาขาความหลากหลายของพืช เหมาะกับผู้เรียนที่มีความสนใจและรักธรรมชาติ มีความอยากรู้ อยากเห็น ช่างสังเกต อยากรู้จักตัวตนที่แท้จริงของพืชแต่ละชนิด และชอบการเดินทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อจะได้เห็นความหลากหลายและความแปรผันของพืชกลุ่มต่าง ๆ

เรียนอะไร?

การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาพื้นฐานในการศึกษาด้านพืช

  • ลักษณะสัณฐานวิทยา (Plant Morphology)
  • ลักษณะกายวิภาคศาสตร์ของพืช (Plant Anatomy)
  • ลักษณะเรณูวิทยาของพืช (Palynology)
  • วิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบและการจัดจำแนกความหลากหลายของพืชกลุ่มต่าง ๆ (Plant Taxonomy) ตั้งแต่ สาหร่ายวิทยา (phycology) ไบรโอไฟต์ (bryology) เฟิร์น (pteridology) และพืชดอก

ซึ่งการศึกษาวิชาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นศาสตร์ที่มีองค์ความรู้เชื่อมโยงกัน ทำให้สามารถเรียนรู้วิวัฒนาการของพืชบนโลกนี้ได้ และสำหรับผู้เรียนที่สนใจศึกษารายละเอียดของพืชในระดับโมเลกุลก็จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ได้จากการศึกษาวิชา Plant Molecular Biology ทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์พืชแต่ละกลุ่มซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยระดับสูงต่อไป

นอกจากนี้ ยังเปิดสอนวิชาที่ถ่ายทอดความรู้ในการนำพืชไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น

  • วิชาพืชเศรษฐกิจ (Economic Botany)
  • วิชาที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกขยายพันธุ์พืช (Horticulture Science)
  • วิชาที่เกี่ยวข้องกับพืชที่อยู่รอบตัวเราและการจัดสวน (Plant and Garden)

ซึ่งวิชาต่าง ๆ เหล่านี้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ และจัดสร้างระบบสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับสังคมที่อยู่อาศัยได้

ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ

เนื่องจากการศึกษาความหลากหลายของพืชในประเทศไทยยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงได้มีความร่วมมือระหว่างนักอนุกรมวิธานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ออกเตรีย เยอรมนี เนเธอแลนด์ เดนมาร์ก อเมริกา และแคนาดา เป็นต้น เพื่อร่วมกันทำงานวิจัยทางด้านความหลากหลายของพืช

โดยงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดจำแนกชนิดพืชกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำเสนอข้อมูลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำหนังสือพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) เช่น การวิจัยพืชวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) พืชวงศ์ดอกรัก (Asclepiadaceae) พืชวงศ์กนกนารี (Selaginellaceae) และพืชวงศ์หางสิงห์ (Lycopodiaceae) รวมถึงเฟิร์นและไบรโอไฟต์วงศ์ต่าง ๆ  เป็นต้น

ผลงานเหล่านี้เป็นงานวิจัยร่วมระหว่างนิสิตและอาจารย์เมื่องานวิจัยเสร็จแล้วก็จะมีผลงานปรากฏไว้เป็นหลักฐานที่สำคัญของแผ่นดิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากพืชของประเทศไทยในอนาคต

นอกจากงานวิจัยพืชเฉพาะกลุ่มแล้วยังมีงานวิจัยความหลากหลายของพืชในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชนเผ่าต่าง ๆ การสำรวจพืชและการใช้ประโยชน์จากพืชในป่าชายเลนและป่าชายหาด อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช การสำรวจพืชบริเวณป่าพรุ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี การสำรวจกลุ่มพืชไร้เมล็ดบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำและบริเวณเขาหินปูนต่าง ๆ ของประเทศไทย การสำรวจพืชไร้เมล็ดบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ การสำรวจพืชไร้เมล็ดบริเวณอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก การติดตามสถานภาพของพืชบนภูกระดึง จ.เลย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยร่วมกับสถาบันต่าง ๆ ภายในประเทศ เช่น

  • การศึกษาลักษณะกายวิภาคของใบหม่อนร่วมกับศูนย์วิจัยหม่อนไหมศรีสะเกษ
  • การศึกษาลักษณะเรณูวิทยาที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้กับมนุษย์โดยทำวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช
  • งานช่วยในการพิสูจน์หลักฐานร่วมมือกับกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในระหว่างที่กำลังศึกษาในหลักสูตรนิสิตจะได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่สังคม โดยนิสิตจะได้รับประสบการณ์ในการจัดค่ายพฤกษศาสตร์ เช่น ค่ายคืนความรู้สู่ชุมชนต่าง ๆ ค่ายนักพฤกษศาสตร์น้อย การเป็นมัคคุเทศน์ในการให้บริการนำนักเรียนและบุคคลที่สนใจชมกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์พืชของภาควิชา เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะสอนให้นิสิตมีประสบการณ์ในการทำงาน มีทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกันและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

เรียนจบแล้วประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง?

นิสิตที่จบการศึกษาจากสาขาวิชาความหลากหลายของพืชนี้ สามารถใช้ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ มากมาย เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย นักอนุกรมวิธานพืช นักตรวจสอบและควบคุมคุณภาพในโรงงาน นักวิเคราะห์และวางแผนด้านสิ่งแวดล้อม ช่างภาพ นักวิชาการในสำนักพิพม์ นักเขียนบทสารคดีต่าง ๆ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น  ซึ่งการทำงานวิจัยที่มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น จะทำให้นิสิตมีสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานอื่น และมีประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ทราบความถนัดของตนเอง และนำไปสู่การทราบแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองได้ดีขึ้น

เมื่อสำเร็จการศึกษา วิชาความรู้ทางด้านความหลากหลายของพืชจะเป็นสิ่งที่จะอยู่ติดตัวกับผู้เรียนตลอดเวลา จะทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิตประจำวันและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลกใบนี้ตลอดไป   

Posted in Courses.