สาขาวิจัย >> นิเวศวิทยาของพืช | Plant Ecology

การศึกษานิเวศวิทยาของพืชเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสิ่งแวดล้อม โดยมีการศึกษาในภาคสนามเป็นหลัก จึงเป็นสาขาหนึ่งของพฤกษศาสตร์ที่เหมาะกับผู้ที่รักการผจญภัยชอบเรียนรู้ชีวิตพืชนอกห้องปฏิบัติการ ตลอดจนผู้ที่ชอบสร้างสรรค์งานทดลองด้านพืชในธรรมชาติของระบบนิเวศอย่างแท้จริง

เรียนอะไร?

โดยทั่วไป มีการจำแนกระดับการศึกษานิเวศวิทยาของพืชตามองค์ประกอบของหน่วยสิ่งมีชีวิตออกเป็น 2 ระดับ กล่าวคือระดับเอกนิเวศวิทยา (Autecology) คือ ศึกษานิเวศวิทยาของพืชในระดับชนิด (species/individual) ไปจนถึงระดับประชากร (population) โดยจะเน้นเรื่องของการปรับตัวของพืชต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ อีกทั้งยังรวมการศึกษาเกี่ยวกับสรีรนิเวศวิทยาของพืช (Ecophysiology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษารวมทางด้านนิเวศวิทยาและสรรีวิทยาของพืช เน้นการเปลี่ยนแปลงหรือ การปรับตัวของพืชภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลง

การศึกษานิเวศวิทยาของพืชอีกระดับหนึ่ง คือ การศึกษาในระดับสังคมนิเวศวิทยา (Synecology)  ซึ่งเป็นการศึกษานิเวศวิทยาระดับสังคมพืช (plant community) และระบบนิเวศพืช (plant ecosystem) แบบต่างๆ ตามธรรมชาติ ศึกษารูปแบบสังคมพืช การเปลี่ยนแปลงของสังคมพืชในเด้านองค์ประกอบที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยรวม ส่วนการศึกษาระบบนิเวศพืชมักเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสังคมพืชและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ โดยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในด้านนิเวศวิทยาผลผลิต (production ecology) เช่น การศึกษาพลวัตของคาร์บอน (carbon dynamics) ในระบบนิเวศป่าแบบต่างๆ ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาจะนำไปสู่การวางแผนเพื่ออนุรักษ์และจัดการระบบนิเวศพืชอย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านนิเวศวิทยาพืชที่สำคัญเพื่อตั้งรับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติภัยธรรมชาติของโลก เช่น ภาวะโลกร้อน เป็นต้น

โครงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยของสาขานี้ในภาควิชา จะมุ่งเน้นในเรื่องการประมาณผลผลิตทางนิเวศวิทยา ศักยภาพในการการสะสมคาร์บอนของระบบนิเวศป่าแบบต่าง ๆ มีโครงการวิจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยาป่าชายเลน ได้แก่

การสร้างรูปแบบจำลองเพื่อประมาณผลผลิตทางนิเวศวิทยาและการเก็บกักคาร์บอนของระบบนิเวศป่าชายเลน

การศึกษาอัตราการย่อยสลายของใบไม้และรากของพืชป่าชายเลน

การศึกษาการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสังคมพืชป่าชายเลน เพราะมีบทบาทสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์

การศึกษาโครงสร้างของระบบรากพืชป่าชายเลนและการตกตะกอนของอนุภาคในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีการกัดเซาะ เพื่อประเมินศักยภาพของระบบรากพืชป่าชายเลนในการลดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมากขึ้น  

นอกจากนี้ยังมีการโครงการศึกษาวิจัยติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของพืชในระบบนิเวศพืชเฉพาะถิ่นที่มีความเปราะบาง อาทิ ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่กำลังถูกคุกคามโดยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง   โดยการติดตามสถานภาพและนิเวศวิทยากล้วยไม้ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำการสำรวจ ติดตามการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านลักษณะนิเวศวิทยา ทางสัณฐานวิทยาในรอบปี  เช่น โครงสร้างป่า ความหนาแน่น ชนิดของพันธุ์ไม้ ขนาดใบ ความสูงของต้น  และการออกดอก เป็นต้น และศึกษาสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการดำรงชีวิต เพื่อบ่งบอกถึงสถานภาพของกล้วยไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญยิ่ง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่มีความเปราะบาง และกำลังถูกคุกคามอยู่ในปัจจุบัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษา และนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผน การจัดการและอนุรักษ์ต่อไป

ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ

งานวิจัยทางด้านนิเวศวิทยาพืชของภาควิชาพฤกษศาสตร์ มีความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งในประเทศ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ตลอดจนหน่วยงานและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอีกหลายแห่ง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง จึงนับได้ว่าสาขาวิชานิเวศวิทยาพืชของภาควิชาพฤกษศาสตร์ เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ตอบโจทย์ของการเป็นแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน ตามปณิธานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Posted in Courses.