About Herbarium

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พืชเมื่อปี พ.ศ. 2503 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2525 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของภาควิชาและเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่องานทางอนุกรมวิธานพืชตลอดชีวิตของท่าน

ภาระกิจหลักของพิพิธภัณฑ์พืชฯ คือเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับพืชของประเทศไทย และสนับสนุนการเรียนการสอน รวมทั้งการวิจัยของนิสิตและคณาจารย์ในภาควิชา ตลอดจนนักวิจัยจากหน่วยงานอื่น ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พืชศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ มีชื่ออยู่ในดรรชนีพิพิธภัณฑ์พืชของโลก ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์รวมทั้งสิ้นกว่า 3,990 แห่ง โดยมีชื่อรหัสที่ใช้เป็นสากลว่า “BCU” รหัสนี้สำหรับใช้ในการอ้างอิงเมื่อมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ที่มีการใช้ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์พืช โดยนักวิจัยจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าใช้ตัวอย่างใด และจากพิพิธภัณฑ์พืชแห่งใดในการศึกษา จึงจะได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัย ปัจจุบันมีนิสิต นักศึกษา และนักวิจัยทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างประเทศมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

พิพิธภัณฑ์พืชศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 244 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 ห้องคือ

  1. ห้องจัดเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้รักษาสภาพ มีทั้งตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้ง และตัวอย่างพันธุ์ไม้ดอง ปัจจุบันมีตัวอย่างพืชประมาณ 27,000 ตัวอย่าง เป็นกลุ่มไม้ดอกประมาณ 17,300 ตัวอย่าง เฟินและพืชกลุ่มพืชใกล้เคียงประมาณ 5,200 ตัวอย่าง ไบรโอไฟท์ 1,000 ตัวอย่าง ไลเคนส์ 550 ตัวอย่าง และสาหร่าย 600 ตัวอย่าง และยังมีตัวอย่างพืชที่กำลังดำเนินการจัดเตรียมเพื่อนำเข้าเก็บในพิพิธภัณฑ์พืชฯ อีกประมาณ 3,000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังได้รวบรวมตัวอย่างผล ตัวอย่างเมล็ด ตัวอย่างผลิตผลจากพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน สไลด์สีโปร่งแสง ภาพถ่าย ภาพวาด สไลด์ตัวอย่างเรณูและสปอร์
  2. ห้องแสดงนิทรรศการ

พิพิธภัณฑ์พืชฯ จัดให้มีนิทรรศการประจำเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอาณาจักรพืชและความหลากหลายของพืช มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อนำเสนอความรู้เกี่ยวกับพืชในแง่มุมที่เป็นที่สนใจและเหมาะสมกับเหตุการณ์ มีนิทรรศการพืชเศรษฐกิจและพืชให้ประโยชน์ อีกทั้งยังมีเรือนรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้มีชีวิต ซึ่งมีพันธุ์ไม้กลุ่มต่างๆ ได้แก่ ไบรโอไฟต์ เฟิร์น ปรง สน กล้วยไม้ และไม้ดอกอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  1. ห้องเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยและเตรียมตัวอย่าง

เป็นห้องสำหรับจัดทำตัวอย่างพันธุ์ไม้รักษาสภาพ รวมถึงเป็นที่รวบรวมเอกสาร วารสาร วิทยาปฎิบัติ วิทยานิพนธ์ ปัญหาพิเศษ และหนังสือเกี่ยวกับพรรณไม้ต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการศึกษาดูรายละเอียดและวาดภาพลายเส้นของตัวอย่างพันธุ์ไม้ เช่น dissecting microscope, compound light microscope, camera lucida เป็นต้น

การให้บริการทางวิชาการของพิพิธภัณฑ์พืช ศ.กสิน สุวตะพันธุ์

  1. ศึกษาตัวอย่างพันธุ์ไม้รักษาสภาพ
  2. เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พืช/ห้องนิทรรศการ/เรือนรวบรวมพรรณไม้
  3. ค้นข้อมูลหรือสอบถามชื่อ/ข้อมูลพรรณไม้ ผ่านทางโทรศัพท์และทางจดหมายอิเลกทรอนิกส์
  4. ตรวจระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของพรรณไม้และทำ voucher specimen (ตัวอย่างสำหรับอ้างอิง)

พิพิธภัณฑ์พืชฯ เปิดให้บริการแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย และประชาชนทั่วไป  วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

โทรศัพท์: 0-2218-5502    อีเมล: Parinyanoot.k@chula.ac.th