พระจุฑาธุชราชฐานเป็นพระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เสด็จแปรพระราชฐาน โดยพระราชทานนามพระราชวังตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก พระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระวรราชเทวี เกาะสีชังนี้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๕

ประวัติ

ในอดีตเกาะสีชังได้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อครั้งทรงพระประชวรในปีพุทธศักราช๒๔๓๑ และคณะแพทย์ได้ถวายความเห็นว่าควรเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ในที่ซึ่งจะได้อากาศจากชายทะเลโดยแต่เดิมบริเวณที่ประทับเป็นเพียงเรือนหลวงที่ฝรั่งเช่าอยู่ ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมด้วยและในช่วงระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่เกาะสีชังอีกหลายครั้ง ในระยะแรกได้มีพระราชดำริและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกขึ้น หลัง และพระราชทานให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพักฟื้นของผู้ป่วย ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี และตึกอภิรมย์ ซึ่งตั้งชื่อตามพระนาม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และ พระนางเจ้าสายสวลีภิรมย์ ตามลำดับ หลังจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระราชฐาน ที่ประกอบด้วยพระที่นั่ง องค์ ได้แก่ พระที่นั่งโกสีย์วสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ พระที่นั่งโชติรสประภาต์ พระที่นั่งเมขลามณี และพระตำหนักอีก ๑๔ หลัง เช่น พระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ พระตำหนักเพ็ชร์ระยับ พระตำหนักทับทิมสด พระตำหนักมรกฎสุทธ์ ซึ่งพระตำหนังมรกฎสุทธ์นี้เป็นที่เป็นที่ประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งในปัจจุบันพระที่นั่งและพระตำหนักเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว ส่วนอาคารและสถาปัตยกรรมบางอย่างที่ยังคงหลงเหลือมาให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ เรือนไม้พักผ่อนริมทะเล ศาลศรีชโลธรเทพ รวมทั้งอัษฎางค์ประภาคาร ซึ่งเป็นประภาคารบนแหลมวังซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ สะพานอัษฎางค์และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

นอกจากนั้นในเขตพระราชฐานยังมีการขุดและสร้างบ่อ สระ และธารน้ำ รวมทั้งบันไดและทางเดินเท้าขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้พระราชทานนามของสถานที่ต่างๆ เหล่านี้โดยคล้องจองกัน เช่น บ่ออัษฎางค์ บ่อเชิญสรวล บ่อชวนดู บ่อชูจิตร บ่อพิศเพลิน บ่อเจริญใจ ฯลฯ หรือสระเทพนันทา สระมหาอโนดาตต์ สระประพาสชลธาร บันไดเนรคันถี บันไดรีฟันม้า บันไดผาเยปนูน บันไดมูนสโตนหนาบันไดศิลาทอง บันไดผองผลึก ฯลฯ เป็นต้น

หลังเหตุการณ์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเมื่อัตนโกสินก ๑๑๒ หรือประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ที่ฝรั่งเศสได้ปิดล้อมอ่าวไทยและส่งกำลังทหารเข้ายึดเกาะสีชัง ทำให้การก่อสร้างพระที่นั่งต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่หยุดชะงักลงและในเวลาต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ ที่ก่อสร้างด้วยไม้เป็นหลักเพื่อนำไม้ไปใช้สร้างที่อื่น แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่านำไปใช้สร้างที่ใดบ้าง นอกจากพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์พระที่นั่งเครื่องไม้สักรูปแปดเหลี่ยม ชั้น ซึ่งถูกนำมาสร้างใหม่ในเขตพระราชวังดุสิต พระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ หลังจากนั้นพระจุฑาธุชราชฐานแห่งนี้ก็ถูกยกเลิกเป็นต้นมา

พระจุฑาธุชราชฐานในปัจจุบัน

ปัจจุบันพระจุฑาธุชราชฐาน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ๒๒๔ ไร่ อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ โดยได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานีวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิตส่วนพื้นที่ริมทะเลด้านหน้าเขาก่อนถึงแหลมวังเป็นบริเวณพื้นที่ของพระราชฐานเดิม ซึ่งมีการปลูกไม้ประดับทั้งที่เป็นต้นไม้เดิมเมื่อครั้งสร้างพระราชฐานและที่นำเข้ามาปลูกเพิ่มเติมภายหลัง ส่วนพื้นที่ตั้งแต่บริเวณไหล่เขาหลังพระราชฐาน เรื่อยขึ้นไปจนถึงบริเวณพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตรที่อยู่บนยอดเขา และอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของพระอุโบสถจนถึงศูนย์บริการข้อมูลยังคงเป็นป่าธรรมชาติ ซึ่งบริเวณตรงกลางมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าสลับกับลานหินและโขดหินเตี้ยๆ และมีหมู่ไม้ที่ประกอบด้วยไม้ต้น ไม้พุ่มและไม้เลื้อยหลากหลายชนิดขึ้นแทรกอยู่เป็นระยะๆ และในช่วงฤดูฝนจะมีพืชล้มลุกขนาดเล็กขึ้นอยู่ตามพื้นดินหลากหลายชนิด

เมื่อเดินทางเข้าสู่เขตพระจุฑาธุชราชฐานในปัจจุบันทางซ้ายมือจะเป็นแนวชายหาดหินสลับกับหาดทรายเลียบทะเล ด้านขวามือตรงบริเวณทางเข้าคือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำชลทัศนสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของของสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เลยพิพิธภัณฑ์เข้ามาอีกเล็กน้อยบนไหล่เขาทางด้านขวามือจะเป็นศาลศรีชโลธรเทพ เป็นศาลเจ้าซึ่งเป็นที่นับถือของชาวเกาะสีชังมาเป็นเวลาช้านานผ่านศาลศรีชโลธรเทพมาก็จะถึงทางเข้าพระจุฑาธุชราชฐานด้านใน จะเห็นแนวของต้นลั่นทมปลูกเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ด้านซ้ายมือหรือทางทิศเหนือจะมองเห็นสะพานอัษฎางค์ซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔ เป็นสะพานยาวสลับกับศาลา ระยะทอดยาวลงไปในทะเล หากเดินตามแนวชายหาดและลัดเลาะตามโขดหินไปเรื่อยๆ จะไปถึงแหลมวังซึ่งเป็นที่ตั้งของอัษฎางค์ประภาคาร เมื่ออ้อมแหลมวกกลับขึ้นมาพบกับชายหาดอีกด้านหนึ่ง เป็นบริเวณที่ตั้งของพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ซึ่งจะสังเกตเห็นส่วนฐานพระที่นั่งที่ยังเหลืออยู่ถัดขึ้นมาเป็นเรือนไม้ริมทะเลหรือที่ปัจจุบันมักเรียกกัน ว่าเรือนเขียว ตามสีของอาคาร ถัดจากเรือนเขียวเป็นตึกสีขาว ชั้น คือ ตึกวัฒนา หรือเรือนวัฒนา ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญบนเกาะสีชัง ในสมัยรัชกาลที่ บริเวณเชิงเขาทางด้านล่างหลังเรือนวัฒนามีศาลาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ที่ผู้มาเยือนพระจุฑาธุชราชฐานเข้าไปถวายสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ออกจากเรือนวัฒนาเลียบไปตามถนนริมทะเล ตามทางและบันไดซึ่งสร้างขึ้นไว้แต่เดิม ขึ้นไปตามไหล่เขาด้านทิศใต้จะพบเรือนทรงกลมชั้นเดียว คือ เรือนผ่องศรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้จัดนิทรรศการพระราชประวัติและประวัติบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญกับเกาะสีชังในอดีตและใกล้ๆ กันนั้นเป็นเรือนยาวชั้นเดียว คือ เรือนอภิรมย์ ซึ่งใช้จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ หากเดินตามทางขึ้นเนินเขาไปด้านหลังเรือนผ่องศรีจะไปถึงวัดอัษฎางคนิมิตร มีพระอุโบสถเจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนมีความงดงามเหมือนเดิมและเป็นจุดที่สามารถชมวิวของทะเลเกาะสีชังได้ดีอีกจุดหนึ่ง อีกด้านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดอัษฎางคนิมิตร พบเจดีย์เก่าแก่อายุหลายร้อยปี เรียกว่า เจดีย์เหลี่ยมอยู่บนเนินหิน ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดอัษฎางคนิมิตรจะมีทางเดินไปยังศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตพระราชฐาน และระหว่างทางด้านขวามือมีจุดชมวิว เนินเขาน้อย เป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ในระยะไกลของเกาะสีชัง

แม้ว่าความรุ่งเรืองและอดีตอันมีชีวิตชีวาของพระราชฐานแห่งนี้จะเสื่อมถอยลดน้อยลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่การได้มาเยี่ยมชมพระจุฑาธุชราชฐานในปัจจุบันนอกจากจะได้ชื่นชมความงดงามของสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งพระอัจฉริยภาพในการก่อสร้างพระราชฐานแห่งนี้ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนกับลักษณะของภูมิประเทศแล้ว บรรยากาศริมทะเลที่เงียบสงบยังทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนได้ย้อนระลึกและเกิดจินตภาพถึงความผูกพันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ไทยในสมัยนั้นที่มีต่อเกาะสีชัง ตลอดจนได้รับความรื่นรมย์จากพรรณไม้ดั้งเดิมของเกาะ ผสมผสานกับพรรณไม้ประดับที่นำเข้ามาปลูก โดยเฉพาะดอกลั่นทมหลากสี ซึ่งจะบานสะพรั่งไปทั่วทั้งเขตพระราชฐาน ก่อให้เกิดความงามและประทับใจแก่ผู้ที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนพระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชังแห่งนี้