สำโรง

Sterculia foetida L.

วงศ์ STERCULIACEAE

ชื่ออื่นๆ: จำมะโฮง (เชียงใหม่) โหมโรง (ใต้) มะโรง มะโหรง (ปัตตานี)

ไม้ต้นผลัดใบ สูงถึง 30 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน ใบย่อย 6-7 ใบ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ขนาด 10-20 x 3.5-6 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 13-20 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง ที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นเหม็น กลีบเลี้ยงรูปกรวย สีส้มหรือม่วงแดง ปลายหยักเป็นแฉกแหลม 5 หยัก ที่ปลายกลีบมีขนยาว ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 12-15 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 3-5 ผล ผลย่อยรูปไต เมื่อแก่สีแดง เปลือกแข็ง ผิวเกลี้ยงเป็นมัน แตกตามรอยด้านล่าง เมล็ดประมาณ 20 เมล็ดติดตามแนวขอบด้านใน รูปทรงรี สีดำ

ออกดอกและติดผลระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน

Posted in .