2 Jatropha4

สบู่แดง

Jatropha gossypifolia L.

วงศ์ EUPHORBIACEAE

ชื่ออื่นๆ: ละหุ่งแดง (กลาง) สบู่เลือด สลอดแดง หงษ์เทศ (ปัตตานี)

ไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 เมตร มียางค่อนข้างใส ใบเดี่ยว สีเขียวแกมม่วง เรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม ขนาดกว้างและยาว 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ขอบเว้าลึกเป็น 3-5 แฉก ปลายแหลม โคนรูปหัวใจหรือมน ขอบใบจักแบบฟันเลื่อยและมีขน ก้านใบมีขนต่อมที่มีน้ำเหนียวๆ ช่อดอกเป็นช่อเชิงประกอบ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง เป็นช่อสั้น ดอกแยกเพศร่วมช่อ มีดอกเพศเมียอยู่กลางช่อ ใบประดับมีขนต่อมแบบเดียวกับที่ก้านใบ กลีบดอกสีแดง ผลค่อนข้างกลม ขนาด 1-1.5 เซนติเมตร

ออกดอกและผลเกือบตลอดปี

2 Euphorbia2

สลัดไดป่า

Euphorbia antiquorum L.

วงศ์ EUPHORBIACEAE

ชื่ออื่นๆ: กะลำพัก (นครราชสีมา) เคียะผา (เหนือ) เคียะเหลี่ยม หงอนงู (แม่ฮ่องสอน)

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3-6 เมตร ทุกส่วนมียางขาว ลำต้นอวบและแข็ง แยกกิ่งสาขามาก กิ่งช่วงปลายมี 3 เหลี่ยม กิ่งต่ำกว่าอาจมี 4-5 เหลี่ยม สันหรือขอบของเหลี่ยมหยักแหลม ปลายหยักมีหนามสั้น แข็ง สีน้ำตาลแดง 1 คู่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน ร่วงง่าย ใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ ขนาดเล็ก ช่อดอกสั้นเหนือคู่ของหนาม ดอกแยกเพศร่วมช่ออยู่ภายในวงประดับ มีดอกเพศเมียอยู่ตรงกลางและดอกเพศผู้ลดรูป ดูคล้ายทั้งช่อคือดอก 1 ดอก ดอกทั้งสองมีสีเหลืองอ่อน ผลรูปเกือบกลม มี 3 พู ขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร

ออกดอกเดือนกันยายนถึงมกราคม ติดผลเดือนธันวาคมถึงเมษายน ยางของต้นสดมีพิษ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง

1 Vitex2

สวอง

Vitex limonifolia Wall.

วงศ์ LABIATAE

ชื่ออื่นๆ: ตีนนก (เหนือ) สมอตีนเป็ด สมอนน (ประจวบคีรีขันธ์) สมอหลวง (ชลบุรี) สวองใหญ่ สวองหิน (สระบุรี)

ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลเหลือง ใบประกอบแบบนิ้วมือ ก้านใบมีปีกตามแนวยาว มีใบย่อย 3 ใบ รูปรี ปลายเรียวแหลม โคนแหลม ขอบเรียบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน ใบย่อยไม่มีก้านใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกและดอกมีขนสีน้ำตาลเหลือง ใบประดับรูปใบหอก ดอกเล็กสีม่วงอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปปากเปิด มี 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อัน แบบสั้น 2 อัน ยาว 2 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม ผิวเกลี้ยง

ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ ติดผลเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

2 Caesalpinia-bon2

สวาด

Caesalpinia bonduc (L.) Roxb.

วงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE

ชื่ออื่นๆ: บ่าขี้แฮด (เหนือ) หวาด (ใต้)

ไม้เลื้อยมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น เรียงสลับ ช่อใบยาว 30-50 เซนติเมตร ใบย่อยมีก้านสั้นๆ แผ่นใบรูปไข่ รูปไข่แกมใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ขนาด 2-4 x 1-2 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือปลายมนและมีติ่งแหลมปลายสุด โคนใบเบี้ยว ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อใหญ่เหนือซอกใบเล็กน้อย ฝักแบน รูปรี มีขนยาวแข็งเป็นหนามโดยรอบ ขนาดฝัก 5-8 x 3.5-4 เซนติเมตร เมล็ดสีเทา รูปร่างเกือบกลม แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2เซนติเมตร

ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ติดฝักเดือนมกราคมถึงตุลาคม

2 Azadirachta2

สะเดาอินเดีย

Azadirachta indica A. Juss. var. indica

วงศ์ MELIACEAE

ชื่ออื่นๆ: ควินิน

ไม้ต้น สูง 15-20 เมตร ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ใบย่อยมี 5-7 คู่ เรียงตรงกันข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก ขนาด 4.5-9 x 1.5-4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบค่อนข้างเรียบหรือจักฟันเลื่อยห่าง แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ยาว 10-25 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายกเป็น 5 จัก กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ขนาด 3-5 x 3 มิลลิเมตร ปลายมน เกสรเพศผู้เชื่อมกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก มีอับเรณู 10 อันติดอยู่ที่ปลายหลอด ผลรูปกลมกึ่งรี ขนาด 1.3-1.5 เซนติเมตร เมื่อสุกหรือแก่จัดเป็นสีเหลือง

ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ พบขึ้นข้างพระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตรยอดอ่อนใช้เป็นอาหารได้เช่นเดียวกับสะเดาไทย

1 Entada3

สะบ้าลิง

Entada glandulosa Gagnep.

วงศ์ LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE

ชื่ออื่นๆ: สะบ้าลาย (กลาง) ผักตีนแลน มะบ้าลิง มะบ้าปน มะบ้าวอก(เหนือ) เครือลิ้นแลน (หนองคาย)

ไม้เถาหรือไม้รอเลื้อย แยกแขนงมาก ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ยาว 10-12 เซนติเมตร ประกอบด้วยแขนงย่อย 3 คู่ แขนงคู่ปลายสุดไม่มีใบและเปลี่ยนเป็นเส้นขด ทำหน้าที่เป็นมือจับสำหรับเลื้อยพัน แขนงคู่ล่าง 2 คู่ ใบย่อยชั้นที่ 2 ก้านสั้นมาก มี 4-6 คู่ รูปขอบขนาน ขนาด 1-2.5 x 4-8 มิลลิเมตร ช่อดอกออกตามชอกใบ รูปทรงกระบอก ขนาด 8-12 x 2 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง เรียงตัวแน่น ฝักยาวตรงหรือโค้ง ขอบคอด ผิวนูนทั้งสองด้านตามแนวที่มีเมล็ด ยาวได้ถึง 35 เซนติเมตร ฝักแก่สีน้ำตาลเกือบดำ หักตามรอยคอด เมล็ดค่อนข้างกลม ขนาด 1.5-2 เซนติเมตร สีน้ำตาล

ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ติดผลเดือนสิงหาคมและกุมภาพันธ์

2 Asparagus

สามสิบ

Asparagus racemosus Willd.

วงศ์ ASPARAGACEAE

ชื่ออื่นๆ: จ๋วงเครือ (เหนือ) ผักชีช้าง (หนองคาย) ผักหนาม (นครราชสีมา) สามร้อยราก (กาญจนบุรี)

ไม้เลื้อย มีรากสะสมอาหารเป็นกระจุก ลำต้นผอม แตกกิ่งสาขามาก ตามลำต้นมีกิ่งลดรูปลักษณะคล้ายใบและทำหน้าที่แทนใบ รูปแถบ ปลายแหลม ยาว 1-3.5 เซนติเมตร ออกเป็นกระจุก 3-8 กิ่งด้วยกัน ใบที่แท้จริงลดรูปเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เรียงสลับ ที่โคนใบมีหนาม ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตรงซอกกิ่ง สีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกลักษณะเหมือนกัน มีทั้งหมด 6 กลีบ เชื่อมติดกันเล็กน้อยที่โคนเป็นรูประฆัง ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตรเกสรเพศผู้ 6 อัน ผลทรงกลม มีเนื้อ เส้นผ่านศูนย์กลาง 7-10 มิลลิเมตร

ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ติดผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

1 Portulaca2

สารพัดพิษ

Portulaca pilosa L. subsp. pilosa

วงศ์ PORTULACACEAE

ไม้ล้มลุกอวบน้ำ กิ่งก้านแผ่กระจายไปตามพื้น ใบอวบน้ำ เรียงเวียน รูปเข็มหรือรูปรี ยาว 1-2 เซนติเมตร ปลายและโคนเรียวแหลม มีขนแบบขนแกะสีขาวหรือขาวอมเทาตามซอกใบ ดอกสีม่วงอมชมพู ออกที่ปลายกิ่งเป็นกระจุก 2-5 ดอก หรือออกเพียงหนึ่งดอก ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอก 4-6 กลีบ รูปไข่กลับ ปลายป้านตรงกลางเป็นติ่ง เกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมาก ผลกลม เมล็ดจำนวนมาก

ออกดอกเกือบตลอดปี

3 Sterculia_foet2

สำโรง

Sterculia foetida L.

วงศ์ STERCULIACEAE

ชื่ออื่นๆ: จำมะโฮง (เชียงใหม่) โหมโรง (ใต้) มะโรง มะโหรง (ปัตตานี)

ไม้ต้นผลัดใบ สูงถึง 30 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน ใบย่อย 6-7 ใบ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ขนาด 10-20 x 3.5-6 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 13-20 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง ที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นเหม็น กลีบเลี้ยงรูปกรวย สีส้มหรือม่วงแดง ปลายหยักเป็นแฉกแหลม 5 หยัก ที่ปลายกลีบมีขนยาว ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 12-15 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 3-5 ผล ผลย่อยรูปไต เมื่อแก่สีแดง เปลือกแข็ง ผิวเกลี้ยงเป็นมัน แตกตามรอยด้านล่าง เมล็ดประมาณ 20 เมล็ดติดตามแนวขอบด้านใน รูปทรงรี สีดำ

ออกดอกและติดผลระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน

2 Opuntia

เสมา

Opuntia elatior Mill.

วงศ์ CACTACEAE

ไม้อวบน้ำ อายุหลายปี ลำต้นลักษณะคล้ายเป็นแผ่นรูปรี แบน ยาว 20-30 เซนติเมตร เรียงต่อกันตามแนวตั้ง แตกกิ่งมากคล้ายเป็นพุ่ม สูงได้ถึง 4 เมตร ผิวลำต้นสีเขียวเข้ม เรียบ ใบรูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก ร่วงง่าย ยาวประมาณ 4มิลลิเมตร ออกรวมกับหนาม 2-8 อัน และขนปลายเงี่ยงเป็นกระจุกบริเวณที่เรียกว่า ขุมหนาม กระจายอยู่ทั่วกิ่ง หนามอาจจะยาวได้ 2-7 เซนติเมตร ดอกเดี่ยว ออกบริเวณสันขอบของกิ่ง สีแดงอมชมพู เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร ฐานรองดอกขนาดใหญ่ รูปไข่กลับ ปลายตัด กลีบรวมจำนวนหลายกลีบเรียงเป็นชั้น ๆ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเป็นเส้นผอม สีชมพู รังไข่ใต้วงกลีบ ผลเมื่อสุกสีแดง ทรงรีแกมรูปไข่กลับ ปลายตัด ภายในมีเนื้อฉ่ำน้ำ ผิวด้านนอกมีขุมหนามกระจายทั่วไป

ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม