dry dipterocarp forest01

สาขาวิจัย >> นิเวศวิทยาของพืช | Plant Ecology

การศึกษานิเวศวิทยาของพืชเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสิ่งแวดล้อม โดยมีการศึกษาในภาคสนามเป็นหลัก จึงเป็นสาขาหนึ่งของพฤกษศาสตร์ที่เหมาะกับผู้ที่รักการผจญภัยชอบเรียนรู้ชีวิตพืชนอกห้องปฏิบัติการ ตลอดจนผู้ที่ชอบสร้างสรรค์งานทดลองด้านพืชในธรรมชาติของระบบนิเวศอย่างแท้จริง เรียนอะไร? โดยทั่วไป มีการจำแนกระดับการศึกษานิเวศวิทยาของพืชตามองค์ประกอบของหน่วยสิ่งมีชีวิตออกเป็น 2 ระดับ กล่าวคือระดับเอกนิเวศวิทยา (Autecology) คือ ศึกษานิเวศวิทยาของพืชในระดับชนิด (species/individual) ไปจนถึงระดับประชากร (population) โดยจะเน้นเรื่องของการปรับตัวของพืชต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ อีกทั้งยังรวมการศึกษาเกี่ยวกับสรีรนิเวศวิทยาของพืช (Ecophysiology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษารวมทางด้านนิเวศวิทยาและสรรีวิทยาของพืช เน้นการเปลี่ยนแปลงหรือ การปรับตัวของพืชภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลง การศึกษานิเวศวิทยาของพืชอีกระดับหนึ่ง คือ การศึกษาในระดับสังคมนิเวศวิทยา (Synecology)  ซึ่งเป็นการศึกษานิเวศวิทยาระดับสังคมพืช (plant community) และระบบนิเวศพืช (plant ecosystem) แบบต่างๆ ตามธรรมชาติ ศึกษารูปแบบสังคมพืช การเปลี่ยนแปลงของสังคมพืชในเด้านองค์ประกอบที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยรวม ส่วนการศึกษาระบบนิเวศพืชมักเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสังคมพืชและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ โดยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในด้านนิเวศวิทยาผลผลิต (production ecology) เช่น การศึกษาพลวัตของคาร์บอน (carbon dynamics) ในระบบนิเวศป่าแบบต่างๆ ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาจะนำไปสู่การวางแผนเพื่ออนุรักษ์และจัดการระบบนิเวศพืชอย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านนิเวศวิทยาพืชที่สำคัญเพื่อตั้งรับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติภัยธรรมชาติของโลก เช่น ภาวะโลกร้อน เป็นต้น โครงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยของสาขานี้ในภาควิชา จะมุ่งเน้นในเรื่องการประมาณผลผลิตทางนิเวศวิทยา ศักยภาพในการการสะสมคาร์บอนของระบบนิเวศป่าแบบต่าง ๆ […]

IMGP3657

สาขาวิจัย >> สรีรวิทยาของพืช | Plant Physiology

ความสำคัญ การศึกษาทางสรีรวิทยาของพืชทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานต่างๆ ภายในโครงสร้างต้นพืชที่ทำให้พืชดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ตัวอย่างเช่น การสังเคราะห์ด้วยแสงที่ทำให้พืชเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นน้ำตาลได้ การหายใจระดับเซลล์ที่เปลี่ยนอาหารให้เป็น ATP กลไกการลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ บทบาทของฮอร์โมนพืชต่อการเจริญเติบโตและการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ การศึกษาทางสรีรวิทยาของพืชยังครอบคลุมถึงศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น • การตอบสนองของพืชต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ผิดไปจากปกติ (Plant Stress Physiology) • การตอบสนองของพืชต่อสิ่งเร้าจากภายนอก (Plant Responses to Environmental Stimuli) • ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชกับจุลินทรีย์ (Plant-Microbe Interaction) • สรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืช (Postharvest) ซึ่งการศึกษาเพื่อให้เข้าใจระบบการทำงานและกระบวนการต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย ที่เป็นประเทศเกษตรกรรม นักสรีรวิทยาของพืชมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยถึงสาเหตุและวิธีการที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อเพิ่มผลผลิตพืช ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีฤดูกาลแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก นักสรีรวิทยาของพืชมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติด้านอาหารได้ งานวิจัย ในภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสิ่งแวดล้อมและสรีรวิทยาของพืช ที่ประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและเอก ที่ร่วมกันศึกษาวิจัยด้านสรีรวิทยาของพืช มีตัวอย่างงานวิจัยตามแต่ละด้าน ดังนี้ • ด้านสรีรวิทยาของความเครียดในพืช […]

IMG_0045

สาขาวิจัย >> พันธุศาสตร์ | Genetics

สาขาวิชาพันธุศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ โครโมโซม ยีน การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม และความหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ในสาขาพันธุศาสตร์ของภาควิชาพฤกษศาสตร์นี้เน้นการทำงานวิจัยทั้งในระดับโครโมโซมและดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ได้แก่ มนุษย์ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งงานวิจัยในภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เน้นการวิจัยในแง่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ • การวิจัยด้านมนุษย์พันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ เน้นการวิจัยในโรคในผู้สูงอายุที่เกิดจากความผิดปกติของยีนต่างๆ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคข้อเข่าเสื่อม อีกทั้งยังมีการวิจัยเกี่ยวกับการเลือกยาให้เหมาะสมกับพันธุกรรมของผู้ป่วยที่จะได้รับการปลูกถ่ายไต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษา นอกจากนี้ยังศึกษาถึงกลไกของการเกิดโรคมะเร็ง และวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยการตรวจดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งต่อไปในอนาคต • การศึกษาวิจัยด้านเซลล์พันธุศาสตร์ เน้นการวิจัยในพืชและสัตว์ นิสิตสามารถส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาโครโมโซมของพืชและสัตว์ชนิดต่างๆ และจัดเรียงโครโมโซมตามหลักสากลได้ ซึ่งมีประโยชน์ในการจำแนกชนิดของพืชและสัตว์ตามจำนวนและโครงสร้างของโครโมโซมได้ • การศึกษาพันธุศาสตร์ด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช มุ่งเน้นไปที่การศึกษาพันธุกรรมของยีนที่ควบคุมลักษณะทำสคัญทางการเกษตร เช่น ความสามารถในการต้านทานโรคและแมลง การทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และลักษณะคุณภาพของผลผลิต เป็นต้น โดยเน้นการศึกษาวิจัยในพืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วเหลือง ข้าว • การศึกษาด้านพันธุศาสตร์ของจุลินทรีย์ มุ่งเน้นไปที่การค้นหาและปรับปรุงจุลินทรีย์ให้เป็นประโยชน์ต่องานด้านอุตสาหกรรม เช่น เพื่อให้ได้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ  เป็นต้น

PBURU-001

สาขาวิจัย >> เทคโนโลยีชีวภาพ | Biotechnology

กลุ่มสาขาเทคโนโลยีชีวภาพของภาควิชาพฤกษศาสตร์ เป็นกลุ่มสาขาที่มีการสอนและงานวิจัยที่เกี่ยวกับการผสมผสานความรู้พื้นฐานของศาสตร์ต่างๆ เกี่ยวกับเทคนิคหรือกระบวนการต่างๆ ในการนำเอา พืช  หรือจุลินทรีย์  มาพัฒนา ปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ  เช่น การศึกษาและพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา การผลิตเซลลูโลสิกเอทานอลโดยใช้เอนไซม์ รวมถึงการพัฒนาเอนไซม์และจุลินทรีย์ด้วยเทคนิคทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลเพื่อการเร่งปฏิกิริยาการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูง และการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาการสร้างผลิตภัณฑ์ข้างเคียงให้มีประโยชน์และเพิ่มมูลค่า การใช้ประโยชน์จากชีวมวลพืช เป็นการนำสารลิกนินและเซลลูโลสที่มีอยู่ในวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นสารที่มีคุณค่าทางอุตสาหกรรม เช่น เอทานอล โพลิเมอร์ชีวภาพ สารพรีไบโอติก สารปฏิชีวนะต่างๆ โดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ที่อยู่ร่วมกับพืช เช่น รา แบคทีเรีย และกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ การผลิตสารทุติยภูมิจากพืชโดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการผลิตสารฑุติยภูมิที่มีสรรพคุณทางยาจากพืชสมุนไพรโดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การศึกษาหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชสมุนไพร การประยุกต์ใช้ราเอคโตไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกป่า เป็นการคัดเลือกเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซามาผลิตเป็นหัวเชื้อรูปแบบต่างๆเพื่อใช้กระตุ้นการเจริญและการอยู่รอดของกล้าไม้ในการปลูกป่า นอกจากนี้ภาควิชาฯ ได้มีหน่วยปฏิบัติการวิจัย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ และหน่วยปฏิบัติการวิจัยการใช้ประโยชน์จากชีวมวลพืช ในการสนับสนุนการวิจัย รวมทั้งได้ยังได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือทางด้านการวิจัยจากภาคเอกชนและสถาบันศึกษาในต่างประเทศอีกหลายสถาบัน

plantcollage

สาขาวิจัย >> ความหลากหลายของพืช | Plant Diversity

ความสำคัญ การดำรงชีวิตของมนุษย์ต่างก็มีความผูกพันใกล้ชิดกับพืชมาตั้งแต่เกิด มนุษย์พยายามคิดค้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อนำพืชมาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งก่อนที่จะนำพืชที่มีอยู่จำนวนจำกัดมาใช้ในชีวิตประจำวันได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีการศึกษาและเรียนรู้พืชแต่ละชนิดให้ชัดเจน ซึ่งในโลกนี้มีรายงานการค้นพบพืชรวมกันมากกว่า 250,000 ชนิด ดังนั้นการศึกษาด้านความหลากหลายของพืช จึงเป็นการศึกษาศาสตร์เบื้องต้นเกี่ยวกับพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เหมาะกับใคร? กลุ่มเนื้อหาวิชาในสาขาความหลากหลายของพืช เหมาะกับผู้เรียนที่มีความสนใจและรักธรรมชาติ มีความอยากรู้ อยากเห็น ช่างสังเกต อยากรู้จักตัวตนที่แท้จริงของพืชแต่ละชนิด และชอบการเดินทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อจะได้เห็นความหลากหลายและความแปรผันของพืชกลุ่มต่าง ๆ เรียนอะไร? การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาพื้นฐานในการศึกษาด้านพืช ลักษณะสัณฐานวิทยา (Plant Morphology) ลักษณะกายวิภาคศาสตร์ของพืช (Plant Anatomy) ลักษณะเรณูวิทยาของพืช (Palynology) วิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบและการจัดจำแนกความหลากหลายของพืชกลุ่มต่าง ๆ (Plant Taxonomy) ตั้งแต่ สาหร่ายวิทยา (phycology) ไบรโอไฟต์ (bryology) เฟิร์น (pteridology) และพืชดอก ซึ่งการศึกษาวิชาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นศาสตร์ที่มีองค์ความรู้เชื่อมโยงกัน ทำให้สามารถเรียนรู้วิวัฒนาการของพืชบนโลกนี้ได้ และสำหรับผู้เรียนที่สนใจศึกษารายละเอียดของพืชในระดับโมเลกุลก็จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ได้จากการศึกษาวิชา Plant Molecular Biology ทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์พืชแต่ละกลุ่มซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยระดับสูงต่อไป นอกจากนี้ ยังเปิดสอนวิชาที่ถ่ายทอดความรู้ในการนำพืชไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง […]